วารสารวิชาการข้าว https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ <p><strong>วารสารวิชาการข้าว</strong> เป็นวารสารราย 6 เดือน ของกรมการข้าว ประกอบด้วย 2 ฉบับต่อปี ได้แก่ ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน และฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความวิชาการด้านข้าว</p> <p>โดยบทความที่จะได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ต้องเป็นบทความวิจัย (research articles) และบทความปริทัศน์ (review articles) ทางวิชาการด้านข้าว ที่มีเนื้อหาสาระทั้งทางด้านพันธุ์ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป วิทยาการเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานพันธุ์ รวมทั้งสาขาและวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าว ครอบคลุมทั้งประเภทงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ โดยบทความที่ตีพิมพ์ทุกเรื่องต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองด้วยระบบการตรวจอ่านแบบผู้ประเมินบทความและผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อของแต่ละฝ่าย (double-blinded review system) โดยผู้ประเมินบทความจากภายนอกหน่วยงาน (external reviewers) จำนวน 2 ท่าน และได้รับความเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ</p> <p><strong>วารสารวิชาการข้าว</strong> เป็นวารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Citation Index, TCI) และอยู่ในฐานข้อมูล TCI วารสารกลุ่มที่ 1 ตามผลผลการประเมินคุณภาพวารสารใหม่เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมีระยะเวลาการรับรองคุณภาพวารสารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567</p> กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว th-TH วารสารวิชาการข้าว 2985-2439 ข้าวเจ้าพันธุ์ กข107 (พิษณุโลก 72) https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/123 <p>ปี พ.ศ. 2566 ข้าวเจ้าขาวพื้นแข็งมีการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ในรูปของข้าวขาวและข้าวนึ่ง ปริมาณ 1.5 ล้านตันข้าวสาร กรมการข้าวได้รับรองพันธุ์ข้าวหอมพื้นแข็งพันธุ์ชัยนาท 2 แต่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากผลผลิตตํ่า และพันธุ์ปทุมธานี 60 ซึ่งเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ไม่สามารถปลูกได้ในฤดูนาปรัง สำหรับข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน พันธุ์ กข51 เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ไม่ตรงกับความต้องการใช้พันธุ์ในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ข้าวเจ้าหอมพื้นแข็ง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนน้ำท่วมฉับพลัน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมีดี ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยการผสมพันธุ์เดี่ยวระหว่างสายพันธุ์ PSL15082-MAS-12-362 ที่มียีนต้านทานโรคขอบใบแห้ง (<em>xa5</em>) และ PSL15456-MAS-1 ที่มียีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (<em>Bph3</em>) ยีนความหอม (<em>badh2</em>) และยีนทนน้ำท่วมฉับพลัน (<em>Sub1</em>) ปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติชั่วที่ 2-6 ร่วมกับการใช้เครื่องหมายโมเลกุล ช่วยในการคัดเลือกได้สายพันธุ์ PSL16348-MAS-293-3-1-2-1 ปลูกศึกษาพันธุ์ ดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์คือ เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี และระหว่างสถานี ทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลง ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน และวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี และคุณภาพการสี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2566 และ เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 ให้ชื่อข้าวเจ้าพันธุ์ “กข107” (พิษณุโลก 72) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 107-108 วัน ปลูกโดยวิธีปักดำ และ 89-100 วัน โดยวิธีหว่านน้ำตม มีลักษณะทรงกอตั้งสูงประมาณ 102 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวเข้ม มุมปลายใบตั้งตรงใบธงยาว 36.7 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เซนติเมตร มุมใบธงปานกลาง รวงยาว 27.5 เซนติเมตร รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว 6.3 เซนติเมตร จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 114 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย ข้าวเปลือกสีฟางมีหาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 11.0 มิลลิเมตร กว้าง 2.56 มิลลิเมตร หนา 2.02 มิลลิเมตร ศักยภาพการให้ผลผลิตในนาเกษตรกรที่อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร 1,070 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 674 กิโลกรัมต่อไร่ ใกล้เคียงกับพันธุ์ กข41 (697 กิโลกรัมต่อไร่) ข้าวกล้องรูปร่างเรียว เมล็ดยาว 8.03 มิลลิเมตร กว้าง 2.17 มิลลิเมตร หนา 1.87 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวสารยาว 7.73 มิลลิเมตร กว้าง 2.12 มิลลิเมตร หนา 1.81 มิลลิเมตร คุณภาพการสีดีมาก สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ ระยะพักตัว 3 สัปดาห์ เป็นข้าวอมิโลสสูง (ร้อยละ 26.61) ความคงตัวของแป้งสุกอยู่ในระดับแป้งอ่อน (ระยะทางการไหลของน้ำแป้ง 75 มิลลิเมตร) อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ อัตราการยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.44 เท่า) มีปริมาณสารให้ความหอม (2-Acetyl-1-pyrroline) เท่ากับ 0.61 ppm ข้าวสุกไม่มีกลิ่น หอมเมล็ดมีสีขาวนวล มีความเลื่อมมันเล็กน้อย ความเกาะตัวค่อนข้างร่วน เนื้อสัมผัสค่อนข้างแข็ง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่อ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลีัยกระโดดหลังขาว ทนน้ำ ท่วมฉับพลันปานกลาง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง</p> เบญจวรรณ พลโคต ชวนชม ดีรัศมี ภมร ปัตตาวะตัง เปรมกมล มูลนิลตา เกษศิณี พรโสภณ พูลเศรษฐ์ พรโสภณ ชโลทร หลิมเจริญ คณิตา เกิดสุข มณฑิชา ถุงเงิน กาญจนา กันธิยะ อลิษา เสนานุสย์ กฤษฎา ชูช่วย ปวีณา ก๋าเรือง บังอร เฉยบาง ประดิษฐ์ อุ่นถิ่น ภูวิวรรธน์ ทิพย์เคลือ ณัฐ ผลอ้อ ดวงพร วิธูรจิตต์ ชัยรัตน์ จันทร์หนู ดวงกมล บุญช่วย พายัพภูเบศวร์ มากกูล บุษกร มงคลพิทยาธร วัลภา ทองรักษ์ สุภาพร จันทร์บัวทอง กนกอร วุฒิวงศ์ ธารารัตน์ มณีน่วม Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 6 29 ข้าวเจ้าพันธุ์ กข109 (หอมพัทลุง 72) https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/122 <p>พื้นที่ปลูกข้าวภาคใต้ ฤดูนาปี 2565 ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง ร้อยละ 47.2 และพันธุ์ปทุมธานี 1 ร้อยละ 13.20 ฤดูนาปรัง 2566 ปลูกข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ร้อยละ 91.63 และพันธุ์ปทุมธานี 1 ร้อยละ 8.37 พันธุ์ปทุมธานี 1 มีลักษณะข้าวนุ่มที่มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมบริโภคของคนในพื้นที่ และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการโรงสี แต่พื้นที่ปลูกน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวยังน้อย อายุเก็บเกี่ยวนาน และปัญหาโรคและแมลงทำลาย เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพพื้นที่นาภาคใต้ ให้ผลผลิตมากขึ้นสามารถเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค ทดแทนพันธุ์ปทุมธานี 1 ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงจึงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมระหว่างข้าวสายพันธุ์ KKN01041-23-2-1-2 เป็นพันธุ์แม่กับ UBN03005-6-3-26-10-49-10 ปลูกและคัดเลือกลูกผสมชั่วที่ 1 และคัดเลือกพันธุ์ผสมตั้งแต่ชั่วที่ 2 ถึงชั่วที่ 6 จนได้สายพันธุ์ PTL14006-11-1-2-2 ปลูกศึกษาพันธุ์ ดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ คือ การเปรียบเทียบผลผลิต ทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลง การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี คุณภาพการสี และคุณภาพการหุงต้มและรับประทาน การยอมรับของเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงสีในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง 2565 และเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 ให้ชื่อข้าวเจ้าพันธุ์ “กข109” (หอมพัทลุง 72) ลักษณะเป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 103 วัน เมื่อปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม และ 112 วัน โดยวิธีปักดำ ทรงกอตั้งลำต้นสูง 102.0 เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ใบสีเขียว ใบธงยาว 34.0 เซนติเมตร กว้าง 1.4 เซนติเมตร ใบธงตั้งตรง รวงแน่นปานกลาง รวงยาว 29.2 เซนติเมตร ผลผลิตเฉลี่ย 597 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าปทุมธานี 1 ร้อยละ 27 ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,086 กิโลกรัมต่อไร่ ติดเมล็ดร้อยละ 85 จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 128 เมล็ด ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 28.9 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือกต่อถัง 10.20 กิโลกรัม แตกระแง้ปานกลาง นวดง่าย เมล็ดสีฟาง ข้าวเปลือกมีรูปร่างยาวเรียว เมล็ดยาว 10.59 มิลลิเมตร กว้าง 2.59 มิลลิเมตร และหนา 2.11 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องยาว 7.67 มิลลิเมตร กว้าง 2.14 มิลลิเมตร หนา 1.89 มิลลิเมตร มีรูปร่างเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง) ระยะพักตัว 4-5 สัปดาห์ ข้าวกล้องสีขาว ท้องไข่น้อย (0.14) คุณภาพการสีดีมาก สีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว ร้อยละ 51.8 ปริมาณอมิโลส ร้อยละ 15.06 ความคงตัวของแป้งสุกอยู่ในระดับอ่อน อุณหภูมิแป้งสุกตํ่า การยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.56 เท่า) ข้าวสวยมีสีขาว นุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม (2AP = 2.54-3.81 ppm) เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคใต้ ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของศัตรูข้าวทั้งสามชนิดดังกล่าวเป็นประจำ</p> กันต์ธณวิชญ์ ใจสงฆ์ กฤษณะ ศิริรัตน์ ชนสิริน กลิ่นมณี ยุพิน รามณีย์ ชลวิทย์ แก้วนางโอ พัชราภรณ์ รักษ์ชุม ธนาภา สมใจ ศาตนันทน์ สุจิตโต บุปผารัตน์ รอดภัย จักรี เพชรนิล ปิยะมาศ เกตุขาว ดลตภร โพธิ์ศิริ รอยบุญ จำรัสกาญจน์ พรเพ็ญ บุญสิน เสรี พลายด้วง อนุชิตา รัตนรัตน์ กนกอร เยาว์ดำ อริณย์ทพัช สงไกรรัตน์ รชนิศ พานิชกิจ ศิรินธร คงประพฤติ นุชนาถ ขุนทอง สุดารัตน์ จิตเขม้น อวยชัย บุญญานุพงศ์ อภิสิทธิ์ มุกดารัตน์ บุษยรัตน์ หมอกมัว รัตนวรรณ จันทร์ศศิธร ธารารัตน์ มณีน่วม วัชรี สุขวิวัฒน์ Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 30 49 การคัดเลือกข้าวทนแล้งโดยใช้ปริมาณสาร Malondialdehyde https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/124 <p>ข้าว เป็นพืชที่ใช้น้ำปริมาณมากในการเพาะปลูก แต่ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าว กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและขาดแคลนน้ำสภาพแล้งส่งผลให้เกิดความเครียดในทางกายภาพซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ผลผลิตตลอดจนคุณภาพข้าวลดลง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวทนแล้งจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องมีเครื่องมือตลอดจนดัชนีชีวัดความทนแล้งในข้าวที่มีความแม่นยำ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์และใช้ปริมาณมาลอนไดอัลดีไฮด์ (Malondialdehyde (MDA)) ควบคู่ไปกับการให้คะแนนการม้วนของใบข้าวเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวทนแล้ง โดยทำการวิจัยในชุดประชากรข้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์เชิงเดี่ยวระหว่างข้าวพันธุ์ IR57514 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 224 สายพันธุ์ เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน พันธุ์ทนแล้ง IR57514 และพันธุ์ทนแล้งปานกลาง IR1552 ขาวดอกมะลิ 105 และขาวปากหม้อ 148 ปลูกข้าวทดสอบในสภาพที่มีการให้น้ำปกติ และสภาพแล้ง วิเคราะห์ปริมาณ MDA ควบคู่กับการประเมินการม้วนของใบข้าวเมื่อทดสอบในสภาพแล้งในข้าวระยะแตกกอ ดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 - กันยายน 2566 พบว่า ในสภาพการให้น้ำปกติ ข้าวทดสอบทั้งหมดมีการม้วนของใบอยู่ในระดับ 1 และมีปริมาณ MDA อยู่ในช่วง 3.56-7.00 μmol/g FW เมื่อข้าวชุดนี้อยู่ภายใต้สภาพแล้ง ปริมาณ MDA จะเพิ่มขึ้น อยู่ในช่วง 8.85-30.35 μmol/g FW และสายพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่มีระดับการม้วนของใบอยู่ในระดับ 5 แต่มีสายพันธุ์ PSL99094-350-9-5R-21, PSL99093-108-3-5R-40, PSL99094-72-8-5R-2, PSL99093-108-4-5R-38, PSL99094-13-5-5R-25, PSL99094-32-1-5R-21 และ PSL99094-159-7-5R-21 มีปริมาณสาร MDA อยู่ในช่วง 8.86 ถึง 11.07 μmol/g FW และ มีระดับการม้วนของใบเมื่อขาดน้ำอยู่ที่ระดับ 1 เช่นเดียวกันกับข้าวที่ปลูกทดสอบในสภาพน้ำปกติ ทั้งยังพบว่าพันธุ์มาตรฐานทนแล้ง IR57514 เมื่อเผชิญสภาพแล้งมีปริมาณ MDA 12.10 μmol/g FW และมีการม้วนของใบระดับ 2 ผลการทดลองครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ข้าวที่มีการม้วนของใบในระดับต่ำบางสายพันธุ์กลับมีปริมาณ MDA สูงในระดับเดียวกับกลุ่มที่มีระดับการม้วนของใบในระดับสูง ดังนั้นการใช้คะแนนการม้วนของใบข้าวในการคัดเลือกข้าวทนแล้งจึงอาจไม่ใช่วิธีการทีแม่นยำเพียงพอ ในขณะที่ปริมาณ MDA มีความสัมพันธ์โดยตรงกับกลไกการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ข้าวมีความสามารถในการทนแล้ง และยังมีความสัมพันธ์กับระดับการม้วนของใบข้าว ดังนั้นจึงสามารถใช้ปริมาณ MDA เป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในทำงานของกลไกต้านอนุมูลอิสระในข้าวที่ปรับตัวในสภาพเครียดจากความแล้งได้ดี และใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวทนแล้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น</p> สุพัตรา นราวัฒนะ พิทวัส วิขัยดิษฐ พัณณ์ชิตา เวชสาร Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 50 59 ความหลากหลายทางพันธุกรรมและการวิเคราะห์การมียีน Avirulence ของเชื้อรา Pyricularia oryzae ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/115 <p>โรคไหม้ของข้าวมีสาเหตุจากเชื้อรา <em>Pyricularia oryzae</em> Cavara เป็นโรคข้าวที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาน้ำฝนและนาชลประทาน ความรุนแรงของโรคนี้ขึ้นกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน <em>Avirulence</em> (<em>AVR</em>) ของเชื้อรา ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อรา และตรวจการมียีน <em>AVR</em> ในเชื้อรา <em>P. oryzae</em> ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูนาปี 2563 และ 2566 โดยดำเนินการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา และวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อรา ด้วยเทคนิค repetitive-based polymerase chain reaction (rep-PCR) และตรวจยีน <em>AVR</em> จำนวน 7 ยีน ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ผลการศึกษาพบว่าเชื้อราจากแหล่งปลูกข้าวเดียวกันหรือต่างกันมีความแตกต่างของลักษณะทางสัณฐาน มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสามารถจัดกลุ่มเชื้อสายพันธุ์ได้ 24 กลุ่ม และการมียีน <em>AVR</em> ของเชื้อราที่เก็บรวบรวมปี พ.ศ. 2563 และ 2566 ดังนี้ ไม่พบยีน <em>AVR-Pizt</em> แต่พบยีน <em>AVR-Pii</em> ร้อยละ 17.9 และ 31.7 <em>AVR-Pia</em> ร้อยละ 71.9 และ 69.8 <em>AVR-Pi9</em> ร้อยละ 96.4 และ 100 <em>AVR-Pib</em> ร้อยละ 91.1 และ 73 <em>AVR-Pik</em> ร้อยละ 87.5 และ 100 และ <em>AVR-Pita</em> 1 ร้อยละ 91.1 และ 77.7 ผลจากการศึกษาลักษณะทางสัณฐาน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อรา และการมีอยู่ของยีน <em>AVR</em> ของเชื้อรา สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ต้านทานต่อโรคไหม้และวางแผนการป้องกันโรคไหม้ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ</p> คนึงนิจ ศรีวิลัย อังคณา กันทาจันทร์ สุกัญญา แก้วพงษ์ พรรณนิดา หอมสมบัติ วันพร เข็มมุกด์ Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 60 73 คุณค่าทางโภชนาการและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญในข้าวกล้องจากเชื้อพันธุกรรมข้าวไทย https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/119 <p>เชื้อพันธุ์ข้าวหลากหลายสายเชื้อพันธุ์ได้มีการรวบรวมไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ศขช.) ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ยังขาดข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการและโภชนเภสัช ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับให้นักวิจัย และผู้สนใจในการเลือกสายเชื้อพันธุ์ที่โดดเด่นมาใช้ประโยชน์ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญในเชื้อพันธุกรรมข้าวไทย ที่เก็บรวบรวมไว้ใน ศขช. โดยการศึกษาจากตัวอย่างเชื้อพันธุ์ข้าว 447 เชื้อพันธุ์ ประกอบด้วยข้าวที่มีเยื้อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล สีแดง และสีดำ ในรูปข้าวกล้องนำมาวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนและไขมัน ผลการวิเคราะห์พบปริมาณโปรตีน ตั้งแต่ร้อยละ 6.08-12.87 โดยเชื้อพันธุ์ไก่ฟ้า (G.S. No. 22045) และเม็ดมะเขือ (G.S. No. 22087) มีปริมาณโปรตีนมากกว่าร้อยละ 12.8 ปริมาณไขมันพบตั้งแต่ร้อยละ 1.84-3.26 โดยเชื้อพันธุ์เหนียวปียา (G.S. No. 9993) และอีมอม (G.S. No.19334) มีปริมาณไขมันมาก ปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ได้แก่ สารฟีนอลิก พบปริมาณตั้งแต่ 98.53-999.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยกเว้นเชื้อพันธุ์เหลืองไว (G.S. No. 22142) เหนียวดำ (G.S. No. 3359) เหลืองตาแสง 107-17-96 (G.S. No. 951) เหลืองเมืองกาญจน์ (G.S. No. 11057) เหนียวลอย (G.S. No. 4496) หมาแหย่ง (G.S. No. 22763) ข้าวแดงหนัก (G.S. No. 22140) และกลาแต (G.S. No. 22026) ซึ่งเป็นข้าวที่มีเยื้อหุ้มเมล็ดสีแดงและสีดำ พบปริมาณสารฟีนอลิกมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สอดคล้องกับปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่ามากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนปริมาณวิตามินอีพบตั้งแต่ 10.71-56.32 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยเชื้อพันธุ์ขาวนางหลวง (G.S. No. 9415) สร้อยขาวสร้อยแดง (G.S. No. 5330) และอีมอม (G.S. No. 19334) พบปริมาณมาก สารแกมมาออไรซานอล พบปริมาณตั้งแต่ 101.46-497.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยพบปริมาณมาก ในเชื้อพันธุ์แหลมทอง (G.S. No. 6672) และดอกติ้ว (G.S. No.21597) ข้อมูลที่ได้ครั้งนี้ เช่น เชื้อพันธุ์ไก่ฟ้า และเม็ดมะเขือ ที่พบปริมาณโปรตีนมาก เป็นแหล่งของกรดอะมิโนจำเป็น ย่อยได้ง่าย และไม่ก่อเกิดภูมิแพ้ หรือเชื้อพันธุ์เหนียวลอย หมาแหย่ง และข้าวแดงหนัก ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง สำหรับเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าข้าวหรือนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์</p> ผกามาศ วงค์เตย์ รัตนวรรณ จันทร์ศศิธร นฤมล เสือแดง กัลยาณี วงษ์พาศกลาง ปราณี มณีนิล พีรพล ม่วงงาม จิตรา สุวรรณ์ พิสูทธ์ บุญร่ม Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 74 86 สมบัติทางกายภาพและเคมีของดินเขตร้อนสำหรับปลูกข้าวในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยฤดูปลูกปี 2563/2564 https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/120 <p>พื้นที่ประเทศไทย ภาคเหนือตอนบนประกอบด้วย 8 จังหวัดได้มีการจัดเขตพื้นที่ความเหมาะสมตามชั้นความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการปลูกข้าวเป็นพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) 1.9 ล้านไร่ เหมาะสมปานกลาง (S2) 1.3 ล้านไร่ เหมาะสมน้อย (S3) 3.2 แสนไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) 6.6 แสนไร่ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพและเคมีของดินนาในภาคเหนือตอนบน ฤดูปลูก 2563/2564 เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดการดินและปุ๋ยให้เหมาะสมต่อการผลิตข้าวเหนียวอย่างยั่งยืน โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างดินแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) และวิเคราะห์สมบัติดินทั้งทางกายภาพและเคมีในห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ผลการวิเคราะห์ดิน พบว่า เนื้อดินที่พบมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย คิดเป็นร้อยละ 43 ของตัวอย่างทั้งหมด โดยดินชนิดนี้มีการระบายน้ำดี แต่มีข้อจำกัดในการเก็บกักน้ำ และธาตุอาหาร ขณะที่ดินเหนียวซึ่ง มีศักยภาพสูงในการกักเก็บความชื้น และธาตุอาหาร พบในสัดส่วนที่น้อยมาก สำหรับสมบัติทางเคมีของดิน พบว่า มีความแตกต่างระหว่างชั้น ความเหมาะสมของที่ดินอย่างชัดเจนโดยพื้นที่ S1 มีค่ามัธยฐานของอินทรียวัตถุ 2.34 เปอร์เซ็นต์ (IQR: 1.76-2.92) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (7-23) โพแทสเซียมแลกเปลี่ยนได้ 81 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (47-120) และค่าความเป็นกรด-เบส 5.61 (5.16-6.17) สำหรับพื้นที่ S2 มีค่ามัธยฐานของอินทรียวัตถุ 2.05 เปอร์เซ็นต์ (1.59-2.58) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (6-26) โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (52-113) และค่าความเป็นกรด-เบส 5.31 (4.97-5.95) โดยมีค่าธาตุอาหารต่ำกว่าพื้นที่ S1 และมีสภาพเป็นกรดจัดมากโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายและลำปาง ในขณะที่พื้นที่ S3 ซึ่งมีค่ามัธยฐานของอินทรียวัตถุ 2.18 เปอร์เซ็นต์ (1.68-2.68) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (15-66) โพแทสเซียม 88 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (52-143) และค่าความเป็นกรด-เบส 5.61 (5.05-6.24) ส่วนพื้นที่ N มีค่ามัธยฐานของอินทรียวัตถุ 2.12 เปอร์เซ็นต์ (1.57-2.58) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (7-40) โพแทสเซียม 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (48-115) และค่าความเป็นกรด-เบส 5.64 (5.08-6.17) ผลการศึกษาครั้งนี้ยังได้ข้อมูลสนับสนุนว่า การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ธาตุอาหาร ลดต้นทุน และป้องกันการสะสมธาตุอาหารเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในพื้นที่ S3 ที่มีฟอสฟอรัสสะสมสูงควรลดการใช้ปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแนวทางการจัดการปุ๋ยครั้งนี้อาจจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวเหนียวในภาคเหนือตอนบนได้</p> พิชญ์นันท์ กังแฮ สุทธกานต์ ใจกาวิล วาสนา วิรุณรัตน์ วิชญ์ภาส สังพาลี สุธีระ เหิมฮึก เนตรนภา อินสลุด Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 87 108 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำนมข้าวโอ๊ตที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน https://li03.tci-thaijo.org/index.php/TRRJ/article/view/104 <p>ข้าวโอ๊ตมีวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งเป็นแหล่งโปรตีนจากพืช ประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวโอ๊ต 39,576 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 8.2 ล้านยูโร และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม โดยตลาดนมข้าวโอ๊ตมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินทางประสาทสัมผัส และสมบัติทางกายภาพและเคมีของผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวโอ๊ตสายพันธุ์ SMGOTC21099 โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 6 สูตร เป็นสูตรข้าวโอ๊ตผ่านการอบและคั่ว โดยแปรปริมาณน้ำมันคาโนล่าที่แตกต่างกัน 3 อัตราส่วน และเปรียบเทียบกับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า จำนวน 2 ตัวอย่าง ประเมินการยอมรับทางประสาทสัมผัสโดยใช้การให้คะแนน ตามวิธีของ American Dairy Science Association (ADSA) วิเคราะห์ความแปรปรวนด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ผลการศึกษาพบว่า น้ำนมข้าวโอ๊ตทั้ง 6 สูตร ได้รับคะแนนความพึงพอใจด้านลักษณะปรากฏ สี และกลิ่น ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p&gt;0.05) กับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้าทั้ง 2 ตัวอย่าง โดยมีค่าความหวาน ความขม และรสชาติโดยรวมของน้ำนมข้าวโอ๊ตที่ผลิตจากข้าวโอ๊ตที่ผ่านการอบได้รับคะแนนสูงกว่าข้าวโอ๊ตที่ผ่านการคั่ว และน้ำนมข้าวโอ๊ตที่ผ่านการอบและใส่น้ำมันคาโนล่าร้อยละ 2.5 (สูตรที่ 1) ได้รับการยอมรับทางประสาทสัมผัสทุกด้านมากที่สุดใกล้เคียงกับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า CK1 และได้รับคะแนนการยอมรับมากกว่าน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า CK2 ส่วนสมบัติทางกายภาพของน้ำนมสูตรที่ 1 พบว่า มี pH ต่ำกว่าน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้าทั้ง 2 ตัวอย่าง และปริมาณของแข็งที่ละลายได้มีค่าเท่ากับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า CK1 (10 °Brix) ค่าความหนืดของสูตรที่ 1 (2.48 cP) มีค่าใกล้เคียงกับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า CK2 (2.30 cP) รวมทั้งมีสีออกขาว (L* = 68.42±0.06, a* = -1.31±0.01 และ b* = 6.09±0.10) ใกล้เคียงกับน้ำนมข้าวโอ๊ตทางการค้า CK1 (L* = 69.20±0.01, a* = -1.23±0.01 และ b* = 5.26±0.02) และองค์ประกอบทางเคมีของน้ำนมข้าวโอ๊ตสูตรที่ 1 มีคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 12.64 โปรตีนร้อยละ 1.28 ไขมันร้อยละ 1.28 ไฟเบอร์ร้อยละ 1.81 เถ้าร้อยละ 0.12 และความชื้นร้อยละ 82.87</p> สิปปวิชญ์ ปัญญาตุ้ย จารุวี อันเซตา Copyright (c) 2025 กรมการข้าว 2025-06-28 2025-06-28 16 1 109 117