ข้าวเจ้าพันธุ์ กข63
Main Article Content
บทคัดย่อ
ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทยโดยส่งออกในรูปข้าวสารเป็นหลัก การส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคยังมีน้อย และมีแนวโน้มเป็นที่สนใจและนิยมกันมากขึ้นของผู้บริโภคปัจจุบัน แต่พันธุ์ข้าวเมล็ดขนาดกลางที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปสำหรับจำหน่ายในตลาดเอเชียยังไม่มี โดยพันธุ์ข้าวไทยที่ใช้แปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปเป็นข้าวเมล็ดยาว คือ พันธุ์ขาวตาแห้ง 17 แต่เมื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มักหักง่าย จำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าวเมล็ดขนาดปานกลางที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับทำผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และสนองนโยบายข้าวครบวงจร ดำเนินการโดยผสมพันธุ์ข้าวระหว่าง สายพันธุ์ IR68144-2B-2-2-3-1-166 จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) กับพันธุ์ CRS23 ได้สายพันธุ์ PTT06036-25-5-B-4-1-4 โดยได้มีการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ตามขั้นตอน คือ การผสมพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว การเปรียบเทียบผลผลิต ลักษณะทางการเกษตร และศักยภาพการให้ผลผลิต การทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณภาพการสี คุณภาพเมล็ดทางเคมี และคุณภาพการหุงต้มและรับประทาน ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2557 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ใช้ชื่อว่าพันธุ์ “กข63” เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงขนาดเมล็ดปานกลาง ขนาด ยาวxกว้างxหนา เท่ากับ 6.18 x 2.35 x 1.74 มิลลิเมตร ข้าวกล้องรูปร่างค่อนข้างป้อม (2.63) อายุเก็บเกี่ยว 116-120 วัน (ปลูกโดยวิธีปักดำ) ทรงกอตั้ง ลำต้นแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ความสูง 98-100 เซนติเมตร รวงค่อนข้างแน่น ความยาวรวง 27.1 เซนติเมตร คอรวงอยู่ในกาบใบธงเล็กน้อย (1-2 เซนติเมตร) การติดเมล็ดร้อยละ 90 จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 107-150 เมล็ด ผลผลิต 760 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว ปริมาณอมิโลสปานกลาง (23.22 เปอร์เซ็นต์) ปริมาณโปรตีนในข้าวกล้อง 10.67 เปอร์เซ็นต์ ข้าวสวยหรือข้าวสุก มีลักษณะค่อนข้างนุ่ม เหนียว ไม่หอม เลื่อมมันเล็กน้อย ลักษณะเด่น คือ มีขนาดเมล็ดปานกลาง มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นข้าวพองอบกรอบได้ดี กข63 เป็นข้าวต้นเตี้ย ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (ประชากรแมลงจากจังหวัดพิษณุโลก) แนะนำปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความต้องการของผู้ประกอบการที่สามารถเชื่อมโยงผลผลิตไปสู่การแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อทำผลิตภัณฑ์ข้าวพองอบกรอบ ข้อควรระวัง คือ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง