ข้าวเจ้าพันธุ์ กข93 (พุ่มพวงเมืองสองแคว)
Main Article Content
บทคัดย่อ
ปี พ.ศ. 2562/2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวฤดูนาปี 60.11 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 6.82 ล้านไร่ โดยพื้นที่ร้อยละ 88 เป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝนเกษตรกรบางพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นข้าวต้นสูง หักล้มได้ง่าย และมีการระบาดของโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ทำให้ผลผลิตลดลง เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว วัตถุประสงค์การวิจัยนี้เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีต้นเตี้ย ต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ผลผลิตสูง ต้านทานการหักล้ม และมีปริมาณอมิโลสปานกลาง โดยการผสมซ้อนระหว่างคู่ผสมพันธุ์ Mudgo/BG367-2 กับ Hawm Surin/SPR88096-17-3-2-2 นำไปผสมกับพิษณุโลก 3 (Mudgo/ BG367-2//Hawm Surin/SPR88096-17-3-2-2///PSL3) ปลูกคัดเลือกแบบสืบตระกูลประชากรชั่วที่ 2-7 และเร่งชั่วอายุ ได้สายพันธุ์ PSL04088-7-R-3-R-2-R-1-R-2-3 ศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์เป็นขั้นตอน คือ การศึกษาพันธุ์ขั้นสูงเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ระหว่างสถานี และในนาราษฎร์ ทดสอบเสถียรภาพผลผลิต ความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญ การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณภาพการสี คุณภาพเมล็ดทางเคมี คุณภาพการหุงต้มและรับประทาน และการยอมรับของเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการโรงสีข้าว ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2561 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ใช้ชื่อว่าพันธุ์ “กข93” (พุ่มพวงเมืองสองแคว) เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง อายุวันออกดอก (ร้อยละ 50) ช่วงวันที่ 25-30 ตุลาคม อายุวันเก็บเกี่ยว ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทรงกอตั้ง ความสูง 131 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียว รวงยาว 29.6 เซนติเมตร คอรวงโผล่พ้นพอดี รวงแน่นปานกลางถึงค่อนข้างกระจาย จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 184 เมล็ด (ปลูกโดยวิธีปักดำ) เมล็ดร่วงปานกลาง ให้ผลผลิตในนาเกษตรกรเฉลี่ย 767 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเปลือกสีฟาง ระยะพักตัวของเมล็ด 6-7 สัปดาห์ ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเรียว ท้องไข่น้อย (0.43) คุณภาพการสีดีมาก สีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 56.30 สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ได้ เป็นข้าวอมิโลสปานกลาง (ร้อยละ 22.82) ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน (การไหลของของแป้ง 85 มิลลิเมตร) อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง การยืดตัวของข้าวสุกปกติ (1.59 เท่า) ข้าวหุงสุกมีสีขาวนวล เลื่อมมันเล็กน้อย การเกาะตัวค่อนข้างเหนียว เนื้อสัมผัสนุ่ม ลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง ต้นเตี้ย ทนทานต่อการหักล้ม มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง (934 กิโลกรัมต่อไร่) แนะนำปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนเขตภาคเหนือตอนล่างที่เกษตรกรต้องการปลูกข้าวอายุปานกลาง ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว