ข้าวเจ้าพันธุ์ กข95 (ดกเจ้าพระยา)

Main Article Content

ชวนชม ดีรัศมี
ดวงกมล บุญช่วย
ชัยรัตน์ จันทร์หนู
ดวงพร วิธูรจิตต์
ปรารถนา สุขศิริ
โสพิต บุญธรรม
อำนวย รอดเกษม
วัชรีย์ อยู่สิงห์
นรินทร์ คันทจักร์
นิตยา ขุนบรรเทา
เบญจวรรณ พลโคตร
สอาง ไชยรินทร์
บุษกร มงคลพิทยาธร
ภมร ปัตตาวะตัง
เจตน์ คชฤกษ์
ชโลทร หลิมเจริญ
มณฑิชา ถุงเงิน
เกษศิณี พรโสภณ
อาทิตย์ กุคำอู
สุรเดช ปาละวิสุทธิ์
อัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ
วรรณกรณ์ อินทรสถิตย์
ดวงอร อริยพฤกษ์
บังอร เฉยบาง
ประดิษฐ์ อุ่นถิ่น
ชัชชัย ทิพย์เคลือ
วิภาวดี ทองเอก
นัยกร สงวนแก้ว
ปวิตร จันทร์หอม
จัตุรงค์ พิพัฒน์พิริยานนท์
ณัฏฐนิช ถาวรแก้ว
มุ่งมาตร วังกะ
คคนางค์ ปัญญาลือ
สุภาพร จันทร์บัวทอง
วัชรี สุขวิวัฒน์
ปราณี มณีนิล
กันต์ธณวิชญ์ ใจสงฆ์
บังอร ธรรมสามิสรณ์

บทคัดย่อ

พื้นที่นาชลประทานเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกกระจายในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง พันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ทรงต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ตอบสนองต่อปัจจัยการผลิตได้ดี แต่ยังมีอีกกว่า 15 ล้านไร่ในเขตนี้ ที่มีปัญหาภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำหลากในฤดูนาปี และประสบปัญหาการทำลายของโรคและแมลงศัตรูข้าว เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวเสียหาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูง อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ สำหรับใช้ปลูกในพื้นที่นาชลประทาน เขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ได้ทำการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ PSBRc54 (ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล) เป็นพันธุ์แม่ กับสายพันธุ์ PSL00526-21-1-1-5 (ต้านทานโรคไหม้) เป็นพันธุ์พ่อ ปลูกคัดเลือกแบบสืบตระกูลประชากรชั่วที่ 2 ถึง 6 ได้สายพันธุ์ CNT07001-35-3-2-1 และมีการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ตามขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาพันธุ์ การเปรียบเทียบผลผลิต เสถียรภาพการให้ผลผลิต ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณภาพการสี คุณภาพเมล็ดทางเคมี คุณภาพการหุงต้มและรับประทาน และการยอมรับของเกษตรกร ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2564 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าวได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ใช้ชื่อว่า “กข95” (ดกเจ้าพระยา) เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 95-100 วัน (ปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม) และ 102-110 วัน (ปลูกโดยวิธีปักดำ) ทรงกอตั้ง ความสูงประมาณ 110 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียว คอรวงโผล่เล็กน้อย รวงแน่นปานกลาง ความยาวรวง 29.3 เซนติเมตร จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 132 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย ให้ผลผลิตเฉลี่ยในนาเกษตรกร 885 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนัก 1,000 เมล็ด เท่ากับ 33.25 กรัม เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.91 มิลลิเมตร กว้าง 2.72 มิลลิเมตร หนา 2.14 มิลลิเมตร ระยะพักตัว 4 สัปดาห์ ข้าวกล้อง รูปร่างเรียว เมล็ดยาว 8.26 มิลลิเมตร กว้าง 2.28 มิลลิเมตร หนา 1.89 มิลลิเมตร ข้าวสารเมล็ดยาว 7.87 มิลลิเมตร กว้าง 2.21 มิลลิเมตร หนา 1.85 มิลลิเมตร คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว ร้อยละ 52.67  มีปริมาณอมิโลสสูง (ร้อยละ 29.78) ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง ข้าวหุงสุกมีสีขาวนวล ค่อนข้างนุ่มและการเกาะตัวปานกลาง (ไม่เหนียว-ไม่ร่วน) คล้ายพันธุ์ชัยนาท 1 ลักษณะเด่น คือ อายุการเก็บเกี่ยวสั้น (95 วัน) ผลผลิตสูง ต้านทานโรคไหม้ และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดีกว่าพันธุ์ กข61 และ กข41 ศักยภาพให้ผลผลิตสูงถึง 1,213 กิโลกรัมต่อไร่  คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้  เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

Article Details

บท
Articles