การคาดการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในจังหวัดชัยนาทโดยใช้กับดักแสงไฟ

Main Article Content

วันทนา ศรีรัตนศักดิ์
ชัยรัตน์ จันทร์หนู
ชวนชม ดีรัศมี

บทคัดย่อ

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (brown planthopper, Nilaparvata lugens (Stål)) เป็นแมลงศัตรูข้าวที่ทำความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวในนาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน การระบาดจะรุนแรง มากน้อยขึ้นกับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรปลูก การติดตามความหนาแน่นของประชากรแมลง เพื่อคาดการณ์การระบาดของแมลงชนิดนี้ในแต่ละพื้นที่และแต่ละฤดูปลูกเป็นสิ่งจําเป็น กับดักแสงไฟเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการติดตามปริมาณของประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ระบาดรุนแรง ได้ศึกษาความสอดคล้องของจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ดักจับได้จากกับดักแสงไฟ กับข้อมูลการสํารวจแมลงในนาแต่ละพื้นที่ที่มีการระบาดของแมลงดังกล่าว เพื่อใช้ในการคาดการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงกันยายน 2550 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท โดยการติดตั้งกับดักแสงไฟ 1 กับดักบริเวณใกล้แปลงนาทดลอง และเปิดไฟล่อดักจับแมลงระหว่างเวลา 19.00-21.00 น. ทุกคืนตลอดปี และทำการสํารวจแมลงในนาเกษตรกรในพื้นที่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเป็นประจำและรุนแรง (hotspot) ของจังหวัดชัยนาท รวมทั้งสํารวจข้อมูลพันธุ์ข้าวและการใช้สารฆ่าแมลงของเกษตรกร พบว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากกับดักแสงไฟมีจำนวนสูงสุดในเดือนมีนาคม โดยจำนวนแมลงที่ดักจับได้ประมาณ 1.7 แสนตัว/กับดัก/เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการระบาดของแมลงในนาเกษตรกร จำนวนแมลงระดับ 4-7 หมื่นตัว/กับดัก/เดือน บ่งชี้ถึงการระบาดของแมลงโดยเกษตรกรในพื้นที่ควรทำการสํารวจแมลงในนาในพื้นที่เฝ้าระวังที่อำเภอเมือง หันคา วัดสิงห์ และมโนรมย์ และพบว่าประชากรจำนวนสูงสุดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ดักจับได้ มีความสอดคล้องกับจำนวนมากของแมลงดังกล่าว ที่ตรวจพบในแปลงนาช่วงข้าวอายุ 15-20 วันหลังหว่าน

Article Details

บท
Articles

References

ปรีชา วังศิลาบัตร. 2537. การเคลื่อนย้ายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvata lugen (Stål) และความสัมพันธ์ของตัวเต็มวัยที่จับได้จากกับดักแสงไฟและสวิงดักกลางอากาศในนาข้าว. ว.กีฏ.สัตว. 16 (3) : 154-164.

_______________. 2539. การเปลี่ยนแปลงประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบางท้องที่ในภาคกลาง. หน้า 15-41 ใน : รายงานผลการค้นคว้าวิจัย " การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล". กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูข้าวและธัญพืชเมืองหนาว, กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ.

_______________. 2545. นิเวศวิทยาของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและการควบคุมปริมาณ. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย จตุจักร, กรุงเทพฯ. 117 หน้า.

ปรีชา วังศิลาบัตร, ทัศนีย์ สงวนสัจ, เพชรหทัย ปฏิรูปานุสรณ์, วาสนา พันธุ์เพ็ง และเกษม สุนทราจารย์. 2543. ความเป็นไปได้ของการใช้ปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จับได้จากเครื่องดักแสงไฟฟ้าตัวชี้วัดความมากน้อยและการจัดการประชากรในนาข้าว. หน้า 249-266. ใน: เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการ "สัตว์ศัตรูข้าวครั้งที่ 12 ". 28-31 มีนาคม 2543 กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพ.

ปรีชา วังศิลาบัตร, สถาพร กาญจนพันธ์, เพชรหทัย ปฏิรู ปานุสรณ์, เพชรี เซ่งซิ้ม, วาสนา พันธุ์เพ็ง, ถนอมจิตร์ ฤทธิ์มนตรี, ทัศนีย์ สงวนสัจ และเกษม สุนทราจารย์. 2544. การผันแปรปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จับได้ในภาคต่างๆ ของประเทศ. หน้า 159-165. ใน: รายงานผลการค้นคว้าและวิจัยประจำปี 2544. กลุ่มวิจัยแมลงศัตรูข้าว, กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ.

Hirao, J. 1979. Forecasting brown planthopper outbreaks in Japan. pp.101-112. In : Brown Planthopper : Threat to Rice Production in Asia. IRRI, Manila, Philippines.

Magor, J. L. 1983. COPR/HFC Collaborative project on the migration of the brown planthopper, Nilaparvata lugen (Stål) in northeastern India. Report of primary studies 1981. Tropical Development and Research Institute, College House, London. 34 p.