การตรวจหาสารวานิลลินในห่วงโซ่การผลิตข้าวหอมมะลิไทยด้วยเทคนิค LC-MS/MS

Main Article Content

กฤษณา สุดทะสาร
สุพรรณิการ์ ปักเคธาติ
รัตนวรรณ จันทร์ศศิธร
ผกามาศ วงค์เตย์
นฤมล เสือแดง

บทคัดย่อ

ประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยรายใหญ่ สร้างรายได้ค่อนข้างสูงให้กับประเทศไทย แต่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 มีรายงานการสุ่มตรวจพบสารวานิลลินในตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกไปขายยังประเทศจีน ส่งผลให้มีการระงับการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยที่ตรวจพบสารวานิลลิน งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาปริมาณสารวานิลลินในข้าวหอมมะลิไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ แปลงนาเกษตรกร โรงสี จนถึงผู้ส่งออก      โดยการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารวานิลลินด้วยเทคนิคลิควิดโครมาโทกราฟี แทนเดม-แมสสเปกโทรเมทรี (LC-MS/MS) อ้างอิงตามวิธีของประเทศจีน (BJS 201705) ซึ่งความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถวิเคราะห์ได้ (LOQ) เท่ากับ 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม พบว่า จากการวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยจำนวน 223 ตัวอย่าง ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกชั้นพันธุ์หลักจากศูนย์วิจัยข้าวจำนวน 13 ศูนย์ ข้าวเปลือกจากแปลงนาเกษตรกรจำนวน 120 ตัวอย่าง ข้าวเปลือกและข้าวสารจากโรงสีจำนวน 40 โรง ข้าวสารบรรจุถุงจากวิสาหกิจชุมชนและร้านสะดวกซื้อ อย่างละ 5 ตัวอย่าง พบสารวานิลลินตั้งแต่น้อยกว่า 40.00 ถึง 378.90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม โดยพบสูงสุดในข้าวสารบรรจุถุงที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกชั้นพันธุ์หลักซึ่งมีความบริสุทธิ์สูง พบสารวานิลลินปริมาณสูงสุด107.46 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตัวอย่างจากแปลงนาเกษตรกรที่ผ่านเฉพาะกระบวนการลดความชื้น พบสารวานิลลินสูงสุด 364.57 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม กล่าวได้ว่า สารวานิลลินอาจพบได้ตามธรรมชาติในข้าวหอมมะลิไทย แต่ยังไม่พบสารเอทิลวานิลลินและเมทิลวานิลลินซึ่งเป็นสารอ้างอิงของสารวานิลลินสังเคราะห์ในตัวอย่างข้าวที่นำมาวิเคราะห์

Article Details

บท
Articles