ข้าวเจ้าลูกผสมพันธุ์ กขผ1
Main Article Content
บทคัดย่อ
การปลูกข้าวในประเทศไทยยังประสบปัญหาผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่งออกข้าวอื่นๆ การเพิ่มผลผลิตข้าวทำได้หลายวิธี การใช้ข้าวพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง เช่น ข้าวลูกผสม เป็นวิธีการหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตข้าวในหลายประเทศ จึงได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง เพื่อให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรในเขตนาชลประทานในการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ได้สายพันธุ์ PTT06001H เป็นข้าวลูกผสม (F1) ได้จากการผสมพันธุ์ระบบ 3 สายพันธุ์ โดยมีพันธุ์แม่ คือ สายพันธุ์เรณูเป็นหมัน IR79156A สายพันธุ์ IR79156B เป็นสายพันธุ์รักษาเรณูเป็นหมัน ส่วนพันธุ์พ่อหรือสายพันธุ์แก้ความเป็นหมัน เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกข้าวลูกผสมพันธุ์ JN29 ตั้งแต่ชั่วที่ 2-7 โดยวิธีสืบตระกูลได้สายพันธุ์ JN29-PTT-43-1-5-5-1 ทดสอบลักษณะแก้ความเป็นหมัน และคัดเลือก 2 ชั่วอายุได้สายพันธุ์ JN29-PTT-43-1-5-5-1-3-1R แก้ความเป็นหมันได้ดี ปลูกศึกษาสมรรถนะการผสมและความดีเด่นของข้าวลูกผสม เปรียบเทียบผลผลิตและเสถียรภาพการให้ผลผลิต การทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว การตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณภาพการสี คุณภาพเมล็ดทางเคมี คุณภาพการหุงต้มและรับประทาน ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2552 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว ได้มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ใช้ชื่อว่า “ข้าวเจ้าลูกผสมพันธุ์ กขผ1” เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 115 วัน ทรงกอตั้ง ความสูง 116 เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ปล้องสีเหลืองอ่อน ใบสีเขียวเข้ม ปลายใบตั้งตรง กาบใบสีเขียวเส้นม่วง ใบธงตั้งตรง คอรวงโผล่เล็กน้อย รวงแน่นปานกลาง รวงยาว 29 เซนติเมตร จำนวนรวงต่อกอ 8 รวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 200-250 เมล็ด ให้ผลผลิตในแปลงนาเกษตรกรเฉลี่ย 929 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเมล็ดเรียว ท้องไข่น้อย ปริมาณอมิโลสสูง (27.53 เปอร์เซ็นต์) อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ลักษณะข้าวสวย ร่วน ไม่เกาะติด ลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง (929 กิโลกรัมต่อไร่) สูงกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 (813 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 14 ต้านทานต่อโรคไหม้ในเขตภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดหลังขาว แนะนำปลูกในพื้นที่นาชลประทานในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคขอบใบแห้ง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้ในเขตภาคเหนือตอนล่าง